บ้านเลขที่ 229 ถนนถวายเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวสีขาวสง่าสวยงาม อายุกว่า 100 ปี ตัวบ้านยื่นไปในแม่น้ำ หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ตีไม้ฝาแบบผสม ส่วนล่างของบ้านตีไม้ฝาเรียงกันในแนวนอนแบบซ้อนเกล็ด ส่วนบนของบ้านบางส่วนตีไม้ฝาเรียงตามแนวตั้งแบบซ้อนสลับประดับบ้านด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง บริเวณบ้านบางส่วนมีประตูเฟี้ยมแบบบานเกล็ดหลายบานต่อกันเป็นแนวยาว เหนือบานเฟี้ยมเป็นช่องลมฉลุลวดลาย หน้าจั่วมีลวดลายประดับมีบานเกล็ดระบายอากาศอยู่ในรูปวงกลมใหญ่ที่อยู่กลางหน้าจั่ว เป็นบ้านของตระกูลลือประเสริฐ โดยได้ซื้อบ้านหลังนี้และย้ายมาจากคลองสานเมื่อ พ.ศ. 2507 เล่ากันว่าเป็นบ้านที่รัชกาลที่5 ทรงปลูกให้แก่เจ้าของบ้านเดิมปัจจุบันได้ยกบ้านหลังนี้ให้แก่มูลนิธิชำนาญ-ยิ้ม ลือประเสริฐ หมายเหตุ : เปิดให้ชมแค่ด้านนอก
บ้านเลขที่ 354 ถนนถวาย เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวขนาดใหญ่ อายุกว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน หลังคาทำเป็นจั่วคู่และมีจั่วแบบสมัยใหม่ ส่วนชานนอกบ้านและบริเวณข้างบ้านที่เป็นครัวเป็นการต่อเติมภายหลัง แต่เดิมเป็นเรือนของขุนสมุทรมณีรัตน์และอยู่ติดแม่น้ำ ต่อมามีดินงอกจึงได้ถมที่ดินงอกและสร้างบ้านอีกสองหลังบริเวณนั้น รูปแบบของเรือนไม้นั้น ผนังตีไม้ฝาซ้อน ด้านหน้าบ้านเป็นประตูบานเฟี้ยมแบบลูกฟักที่มีลายสลักพันธุ์พฤกษา ซึ่งเป็นลวดลายเช่นเดียวกันกับช่องลมเหนือบานเฟี้ยม ภายในเรือนเดิมมีการแบ่งห้องเป็นสองฝั่ง มีป้ายอักษรจีนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นป้ายชื่อร้านค้าในสมัยก่อน ส่วนด้านหลังบ้านและด้านข้างที่ต่อยื่นออกไปคือบริเวณที่เป็นครัวและห้องอาหารนั้นผนังตีไม้ฝาแบบสลับ
บ้านเลขที่ 212 อยู่ในซอยโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว เป็นเรือนไทยชั้นเดียวทำด้วยไม้สักทั้งหลัง อายุกว่า 80 ปี มีรูปแบบแปลกตากว่าเรือนพื้นถิ่นหลังอื่น ๆ ในชุมชนท่าฉลอมที่มักเป็นเรือนไม้แบบที่นิยมในชุมชนชาวจีน เรือนไม้แบ่งออกเป็นสองตอนได้แก่ ตัวเรือนไทยหลักที่มียอดเป็นจั่วสองจั่วซึ่งเป็นจั่วแหลมแบบเรือนไทย และตัวเรือนต่อยื่นออกมาทางด้านทิศเหนือซึ่งมีหน้าจั่วสามเหลี่ยมแบบสมัยใหม่กว่าจึงน่าจะเป็นเรือนที่มีอายุน้อยกว่าเรือนหลัก ลักษณะรูปแบบของเรือนไทยหลังนี้ เป็นเรือนฝาปะกน ใต้บานหน้าต่างไม้มีการทำช่องลูกฟักประดับ และมีการทำนอกชานยื่นออกมาทางทิศใต้ เป็นนอกชานมีหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากเรือนขนมปังขิงแบบตะวันตก คือที่ยอดจั่วมีการประดับไม้ฉลุและยังเห็นการใช้กระเบื้องว่าวมุงหลังคาบางส่วน โดยชานหน้าเรือนมีระเบียงไม้ล้อมรอบ มีการตีไม้เป็นช่องรูปเรขาคณิตซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยพบในเรือนไทย
ตั้งอยู่ริมถนนถวายใกล้กับสี่แยกตลาดสดเทศบาล เป็นตึกแถวสองชั้น อายุกว่า 50 ปี ตัวตึกมีดาดฟ้า ไม่มีส่วนที่เป็นหลังคามุงกระเบื้อง มีกันสาดคอนกรีตยื่นออกมาเหนือหน้าต่างบริเวณชั้นสอง ซึ่งนับเป็นตึกแถวชุดแรก ๆ ที่สร้างขึ้นที่ท่าฉลอม ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของท่าฉลอม มีทั้งโรงหนัง โรงฝิ่น สถานีตำรวจ และคลินิก เป็นต้น แต่ต่อมาเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2500 จึงสร้างบ้านเรือนบริเวณนี้ขึ้นมาใหม่เป็นตึกแทนของเดิมที่เป็นไม้ซึ่งถูกไฟไหม้ไป ตึกแถวบางหลังมีจารึกข้อความอยู่เหนือกันสาด เช่นจารึกว่า “ตลาดเทศบาล และปี พ.ศ. 2503” “1958 (ซึ่งคงเป็น ค.ศ. 1958 ที่ตรงกับ พ.ศ. 2501) และ “มีอำพล (โดยเป็นตึกของตระกูลมีอัมพลซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในท่าฉลอม)” หมายเหตุ : เปิดให้ชมแค่ด้านนอก
บ้านเลขที่ 678 ถนนถวาย เป็นบ้านไม้สองชั้นสีเขียว สวยงามโดดเด่นน่าชม อายุกว่า 90 ปี หันหน้าหาถนน อยู่ฝั่งที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน เป็นบ้านไม้สักทองทั้งหลัง เดิมเป็นบ้านไม้เรือนไทย แบบยกใต้ถุนสูง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้บูรณะใหม่ให้เป็นบ้านสองชั้นดังที่เห็นในปัจจุบัน มีลักษณะเป็นเรือนไทยประยุกต์ประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง ส่วนหลังคาทรงมนิลา มุงด้วยกระเบื้องว่าว เจ้าของบ้านเดิมคือ คุณสนอง ศิลาสุวรรณ ถึงแก่กรรมแล้ว และคุณวีณา ศิลาสุวรรณ บุตรสาวคุณสนองเป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน บรรพบุรุษของคุณวีณา ศิลาสุวรรณ เคยทำงานที่พระที่นั่งวิมานเมฆ และชื่นชอบที่นั่นมาก จึงได้รับแรงบันดาลใจที่จะสร้างบ้านหลังนี้เลียนแบบพระที่นั่งวิมานเมฆ บ้านหลังนี้เป็นเรือนขนาดใหญ่มากแห่งหนึ่งของท่าฉลอมที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความเจริญมั่งคั่งของชุมชนท่าฉลอมในอดีต นอกจากนี้ คุณกฤษณา อโศกสิน นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ซึ่งเป็นหลานตาของเจ้าของบ้านเดิม เคยมาพำนักอยู่และได้เขียนไว้ในนวนิยายเรื่องน้ำท่วมเมฆ จึงทำให้มีเรื่องราวที่น่าค้นหามากมายอยู่ในบ้านหลังนี้ หมายเหตุ : เปิดให้ชมแค่ด้านนอก
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยการนำของบาทหลวงปีโอ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวัดของชาวคริสตัง (โรมันคาทอลิค) นักบุญอันนาเป็นมารดาของพระนางมารีย์ซึ่งเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า จึงมีศักดิ์เป็นคุณยายของพระเยซูเจ้า ผู้ที่เลื่อมใสนับถือมักเรียกว่า “คุณยายอันนา” ภายในบริเวณวัดนี้ มีโบสถ์ซึ่งเป็นอาคารแปดเหลี่ยมที่สวยงามเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา โรงเรียนอันนาลัย และศาลานักบุญอันนาซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและเป็นที่ประดิษฐานของพระรูปนักบุญอันนาซึ่งสูงถึง 8.5 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชีย องค์พระรูปนักบุญอันนามีกลไกหมุนได้รอบตัว โดยต้องหยอดเหรียญ 10 บาทที่ตู้ควบคุมเพื่อให้หมุน วัดนี้อยู่ติดกับวัดช่องลม และเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงามในการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่มีความแตกต่างทางศาสนา
สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยความร่วมมือร่วมใจและเงินบริจาคของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539 อาคารประธานของอุทยานนี้สร้างคล้ายภูเขาและมีถ้ำอยู่ภายใน บริเวณด้านบนของอาคารไม่มีหลังคาแบบศาลเจ้าจีนทั่วไป แต่มีการนำประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมปางเมตตาซึ่งหล่อด้วยโลหะแล้วทาสีสวยงามโดยมีความสูงถึง 9.98 เมตร ประทับยืนบนฐานดอกบัวและมีมังกรเขียวโอบล้อมรอบ ขนาบข้างด้วยเทพบริวาร มาประดับแทน คำว่า “โพธิสัตว์” มาจากคำสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ” ในที่นี้หมายถึง “ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” ส่วนพระนาม “กวนซีอิม” หรือ “กวนอิม” หมายถึง ผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก ซึ่งเดิมเรียกพระนามว่า กวนซีอิม แต่ต่อมาตัดเหลือเพียงกวนอิม ด้วยความเชื่อว่าทรงมีพระเมตตา ฟังความทุกข์ร้อนใจของผู้คน และช่วยเหลือปัดเป่าให้พ้นภัย จึงได้รับความศรัทธาเลื่อมใสอย่างมากจากคนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดข้างเคียง พระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นเป็นองค์เดียวกันกับ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญตามคติมหายาน เมื่อครั้งพุทธศาสนาแรกเผยแพร่จากอินเดียสู่จีนนั้น รูปลักษณะของพระอวโลกิเตศวรเป็นเพศชายเช่นเดียวกับในอินเดีย แต่ต่อมามีการผสมผสานกับตำนานพื้นบ้านของจีนเรื่อง “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” ซึ่งทรงเป็นพุทธมามกะที่รู้แจ้งในธรรมอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีความกตัญญูเป็นเลิศ จึงกลายเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมซึ่งเป็นเพศหญิง
ศาลเจ้าที่สวยงามและเก่าแก่ประมาณ 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลมีเทพเจ้ากวนอูเป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลางพร้อมและเทพบริวารอีก 2 องค์ ด้านขวามีปรมจารย์ซึ่งเป็นพระสงฆ์จีน 5 องค์ และด้านซ้ายมีเทพเจ้าอาม๊าหรือเทียนโฮ่ว รวมทั้งมีแม่พิมพ์ไม้แกะสลักตัวอักษรจีนที่มีการแกะสลักคำว่า “เล่งเกียฉู่ (龍仔厝)” ที่แปลว่า “บ้านลูกมังกร” ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนของท่าฉลอมไว้ด้วย เทพเจ้ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ กล้าหาญทรงคุณธรรม และเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือสูงสุด โดยเป็นบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงตามเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊ก ชาวจีนก่อนออกเดินทางไปค้าขายต่างประเทศมักนิยมบูชาเทพเจ้ากวนอู
ศาลเจ้าจีนไหหลำ เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลมีเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย โดยแปลเป็นไทยว่า “เจ้าแม่ท้ายน้ำ” ซึ่งเป็นที่นับถือของคนเดินเรือชาวไหหลำ และมักเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เจ้าแม่ทับทิม” เนื่องจากมีเครื่องประดับประจำองค์เป็นพลอยสีแดง เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าปุนเถ้ากง และด้านซ้ายมีเทพเจ้ากวนอูและบริวาร รวมทั้งมีกระถางธูปและเกี้ยวอัญเชิญที่เก่าแก่กว่า 100 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีงานแห่เจ้าแม่และพิธีลุยไฟ เจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยมีประวัติโดยย่อว่า จุ๊ยบ๋วยเนี้ยเป็นเทพหญิงที่สิงสถิตในขอนไม้ โดยมีชาวประมงแซ่พัวเดินเรือจับปลา วันหนึ่งขณะลากแหพบว่าแหมีน้ำหนักมาก คิดว่าคงได้ปลามากมาย แต่ปรากฏว่ามีขอนไม้ท่อนหนึ่งมาติดแทน เมื่อโยนทิ้งไปและหว่านแหอีกครั้ง ขอนไม้ท่อนนั้นก็ติดกลับมาเช่นเดิม จึงอธิษฐานให้ตนจับปลาได้จำนวนมาก หากสำเร็จตามคำขอ จะนำขอนไม้ไปแกะสลักเป็นรูปเพื่อบูชา เมื่อคำขอของเขาสัมฤทธิ์ผล เขาจึงนำขอนไม้ดังกล่าวกลับบ้าน แต่เมื่อถึงบ้านแล้วกลับทิ้งขอนไม้ให้ตากแดดตากฝน ต่อมามีการย้ายขอนไม้ไปไว้หน้าเล้าหมู หลังจากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ประหลาด หมูเล้านั้นตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งหากใครลบหลู่ขอนไม้ล้วนมีอันเป็นไปทั้งสิ้น ชาวประมงแซ่พัวจึงตระหนักได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของขอนไม้ และทำการขอขมาแล้วนำมาแกะสลักตามที่เคยสัญญาไว้
บ้านเลขที่ 421-422 ถนนถวาย เป็นเรือนไม้แบบล้งมุงหลังคาด้วยจาก ดูแปลกตาย้อนยุค อายุกว่า 60 ปี หันหน้าหาถนนโดยอยู่ฝั่งถนนที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน มีหลังคาจั่วยอดแหลม ชายคาต่ำ และมีผนังเตี้ยที่ทำจากไม้ไผ่ตีเรียงกันในแนวตั้ง ไม่ทราบชื่อเจ้าของ ปัจจุบันใช้ประกอบกิจการทำกะปิและแปรูปสัตว์น้ำซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวที่ทำต่อเนื่องกันมา (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)