บ้านเลขที่ 196 ถนนถวาย บ้านแบ่งออกเป็นสองตอน อายุกว่า 100 ปี บ้านหลังนอกติดถนนเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวหลังคาปูด้วยกระเบื้องว่าว ส่วนบ้านหลังในเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังคาปูด้วยกระเบื้องลอน หันหน้าห าถนนโดยอยู่ฝั่งถนนที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน บ้านหลังนอกสร้างก่อนบ้านหลังใน บ้านทั้งสองหลังตีไม้ฝาเรียงกันในแนวนอนแบบซ้อนเกล็ด ตัวบ้านบางส่วนประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง เป็นบ้านของตระกูลศรีจันทร์ ก๋งของคุณไพศาล ศรีจันทร์ ซึ่งมาจากจีนแล้วมาตั้งรกรากที่ท่าฉลอมเป็นผู้ซื้อบ้านนี้ซึ่งเดิมเป็นบ้านหลังคาจากจากช่างทำทอง ต่อมาได้ร่อนทองที่ตกอยู่ตามพื้นบ้านแล้วนำไปขาย จึงได้เงินมาปลูกบ้านขึ้นใหม่ (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)
บ้านเลขที่ 113 ถนนถวาย เป็นอาคารเรียนสองชั้นสีฟ้าอ่อนสวยงามสะดุดตา อายุกว่า 70 ปี หันหน้าหาถนนโดยอยู่ฝั่งถนนที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ก่ออิฐถือปูนในชั้นล่าง ส่วนชั้นบนสร้างด้วยไม้ หลังคามุงด้วยสังกะสี มีจั่วสามเหลี่ยมอยู่บริเวณกึ่งกลางอาคาร ชั้นล่างมีซุ้มประตูโค้งและเป็นโถงโล่ง ผนังด้านบนและด้านในอาคารมีการเจาะช่องลมประดับด้วยลายฉลุ เป็นโรงเรียนของตระกูลเทียนผาสุก โรงเรียนนี้เดิมชื่อว่า “โรงเรียนป้วยไช้” ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน แรกเริ่มตั้งอยู่หน้าโรงเจเช็งเฮียงตั๊ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ได้ดำเนินการสอนโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนสาครวิทยา” ต่อมาจึงย้ายมาตั้งริมถนนถวาย ณ ที่ตั้งในปัจจุบัน สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีนโยบายชาตินิยม โรงเรียนได้รับผลกระทบต้องปิดตัวลง แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2494 คุณเทียม เทียนผาสุกได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นอีกครั้งและเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรภาษาไทย โรงเรียนนี้ได้ปิดตัวลงเมื่อราว พ.ศ. 2553 (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)
บ้านเลขที่ 95 ถนนถวาย เป็นบ้านไม้สองชั้นสวยงามน่าชม อายุกว่า 80 ปี หันหน้าหาถนนโดยอยู่ฝั่งถนนที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ตีไม้ฝาเรียงกันในแนวนอนแบบซ้อนเกล็ด หลังคาจั่วคู่ ชั้นบนมีระเบียงลูกกรงยื่นออกมา ประตูชั้นล่างเป็นเฟี้ยม ประดับบ้านด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบเรือนขนมปังขิง ซุ้มประตูหน้าบ้านมีหลังคาจั่วทรงไทย เป็นบ้านของคุณสมศรี ทองเจือ และลูกอีก 2 คนของภรรยาคนแรกของ พล.ร.ต. ประเสริฐ ทองเจือ ซึ่งเป็นสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว เดิมเป็นบ้านของคุณเชื้อ พงษ์พานิช ซึ่งเป็นพ่อของภรรยาคนแรกของพล.ร.ต. ประเสริฐ ทองเจือ (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)
เป็นท่าเรือของเทศบาลนครสมุทรสาครที่ให้บริการเรือข้ามฝากระหว่างท่าฉลอมกับโกรกกราก ซึ่งสามารถนำรถจักรยานและรถมอเตอร์ไซด์ข้ามฝากไปด้วยแต่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม สะดวก และได้ชมวิวแม่น้ำท่าจีนที่สวยงามขณะข้ามฝาก ให้บริการตั้งแต่เวลา 6.00-19.00 น. นอกจากนี้ ท่าเรือฝั่งโกรกกรากยังอยู่ติดกับวัดโกรกกราก ซึ่งมีหลวงปู่วัดโกรกกราก หรือหลวงพ่อใส่แว่นดำที่มีชื่อเสียง จึงสามารถเดินแวะไปสักการะได้อีกด้วย
ศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชนของท่าฉลอม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อชุมชนของบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยเปิด 9.00-17.30 น. และปิดเฉพาะวันพุธ ภายในมีข้อมูลเรื่องราวที่น่าสนใจ ของเก่า และภาพเกี่ยวกับท่าฉลอมในอดีต มีแผนที่ท่าฉลอมขนาดใหญ่ที่แสดงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในท่าฉลอม มีมุมขายของที่ระลึกและเครื่องดื่ม และมีจักรยานให้เช่าเพื่อถีบเที่ยวชมเมือง รวมทั้งมีบริการเรียกรถสามล้อถีบให้แก่นักท่องเที่ยว บ้านท่าฉลอมเป็นบ้านของคุณฮะ-คุณสุวรรณ แสงสุขเอี่ยม ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้อาศัยอยู่แล้ว และได้อนุญาตให้ใช้บ้านโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ชุมชนท่าฉลอม บ้านเลขที่ 18 ถนนถวาย เป็นบ้านไม้สองชั้นสีขาวสง่าสวยงาม อายุกว่า 50 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ด้านหลังติดถนนถวาย ตีไม้ฝาเรียงกันในแนวนอนแบบเข้าลิ้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 ด้วยไม้มะค่าโมงทั้งหลัง เป็นบ้านของคุณฮะ-คุณสุวรรณ แสงสุขเอี่ยม ในช่วงที่อาศัยที่บ้านนี้ ประกอบอาชีพประมงและขายปลา มีเรือประมงและแพปลาชื่อ “ชัยนาวี” และได้ย้ายไปอยู่ที่มหาชัยตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ปัจจุบันได้อนุญาตให้ใช้บ้านเป็นศูนย์การท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชนของท่าฉลอมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะแก่ชุมชนท่าฉลอม คุณฮะและคุณสุวรรณเป็นที่รู้จักและนับถือของชาวท่าฉลอม และเป็นผู้ริเริ่มการสร้างโรงพยาบาลนครท่าฉลอมและพระโพธิสัตว์กวนอิมที่ท่าฉลอม
เป็นท่าเรือของเทศบาลนครสมุทรสาครที่ให้บริการเรือข้ามฝากระหว่างท่าฉลอมกับมหาชัย ซึ่งสามารถนำรถจักรยานและรถมอเตอร์ไซด์ข้ามฝากไปด้วยแต่ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม สะดวก และได้ชมวิวแม่น้ำท่าจีนที่สวยงามขณะข้ามฝาก ให้บริการ 24 ชม.
บ้านเลขที่ 57 ถนนถวาย เป็นบ้านไม้สองชั้นสีขาวสวยงามชวนมอง อายุกว่า 60 ปี หันหน้าหาถนน ด้านหลังติดแม่น้ำท่าจีน หลังคาจั่วตัด ตีไม้ฝาเรียงกันในแนวนอนแบบซ้อนเกล็ด มีหน้าต่างขนาดเล็กคู่กันอยู่ใต้จั่ว ถัดลงมาเป็นหน้าต่างไม้บานเกล็ด และมีการทำช่องลมเหนือหน้าต่าง เป็นบ้านของคุณภาณุ ทองผาสุก ซึ่งซื้อบ้านหลังนี้มาเมื่อราว พ.ศ. 2500 ในอดีตประกอบอาชีพทำปลาเค็ม ทำการประมง ทำโรงฆ่าหมู และทำปั๊มขายน้ำมันให้แก่เรือประมง ตามลำดับ โดยเลิกกิจการปั๊มน้ำมันไปเมื่อราว พ.ศ. 2540 (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)
สถานีต้นทางของรถไฟสายเก่าแก่กว่า 100 ปี เริ่มเดินรถตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่สถานีแม่กลองที่มีตลาดร่มหุบอันเลื่องชื่อ รถไฟสายแม่กลอง (วงเวียนใหญ่-มหาชัย-บ้านแหลม-แม่กลอง) เป็นรถไฟสายโดดเดี่ยวไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่น แต่โดดเด่นต่างจากรถไฟสายอื่นตรงที่ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อต่อระหว่างสถานีมหาชัยกับบ้านแหลม บริเวณริมเขื่อนสถานีแห่งนี้มีสะพานไม้สวยงามที่สร้างจากรางและไม้หมอนรถไฟให้ชมวิวแม่น้ำท่าจีนและป่าชายเลนอันร่มรื่นที่ชุมชนช่วยกันปลูก รถไฟวิ่งวันละ 4 เที่ยว เที่ยวจากสถานีนี้อออก 7.30 10.10 13.30 และ 16.40 น. และเที่ยวจากสถานีแม่กลองออก 6.20 9.00 11.30 และ 15.30 น. ค่าโดยสารเพียงคนละ 10 บาท ใช้เวลา 60 นาทีถึงสถานีปลายทาง
Q: คุณป้าคะ ขอถ่ายรูปไปลงเว็บไซต์หน่อยได้ไหมคะ? A: ถ่ายตอนนี้เหรอ วันนี้สไบไม่สวยเลย (ยิ้มเขิน) STORY ในบรรยากาศสีเขียวของอำเภอบ้านแพ้ว หลากชุมชนเลียบริมคลองล้วนมีสีสันและวิถีชีวิตที่แตกต่าง หากภายใต้ร่มไม้งามของเรือกสวนไร่ผลไม้ที่ยังความรู้สึกเขียวชอุ่มชุ่มชื่นให้ตลอดเวลานั้น มีสีสันแห่งวิถีชีวิตหนึ่งที่คงสดใสและเข้มข้นแข่งกับ “สไบมอญ” ซึ่งปรากฏหลักฐานพาดบ่าของชาวมอญ หรือชาวไทยรามัญในทุกวันสำคัญทางศาสนาที่ “ชุมชนเจ็ดริ้ว” ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เจ็ดริ้วมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงถึงกันกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย ความสมบูรณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบการเกษตร เพาะปลูก ทำเรือกสวนไร่นา และการสร้างบ้านเรือนตามแนวคลองเจ็ดริ้วและคลองพาดหมอน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) ศูนย์รวมหลักฐานและประจักษ์พยานอันเข้มข้นของวิถีแบบชาวมอญจึงอยู่ที่โรงเรียนและวัด “โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว” นั้น ส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชาวมอญ โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชาวมอญเจ็ดริ้วขนาดย่อมไว้ในโรงเรียน ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยข้อมูล ภาพถ่ายและเครื่องมือเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของชาวมอญ นอกจากนั้นยังมีการสอน และเป็นศูนย์กลางการส่งต่อภูมิปัญญาการปักสไบมอญ คุณภาพและความสวยงามนั้นเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดี และแน่นอนว่าสีสันแห่งวิถีชีวิตของที่นี่ยังคงสดใส ใช่เพียงถูกบันทึกและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นแล้วในวันสำคัญของศาสนาเราจะได้พบชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญ หยิบสไบมอญมาใส่ และทำบุญไหว้พระในแบบของชาวมอญที่วัดเจ็ดริ้ว สไบมอญนั้นสวยงามแปลกตา แม้ว่าคุณยายคุณย่าจะบอกว่าสไบที่เขาหยิบมาใส่นั้นไม่ใช่สไบมอญที่สวยที่สุดที่มี แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชมและดื่มด่ำกับอัตลักษณ์ที่ยังมีชีวิตแล้ว ความงามของสไบมอญนั้นอยู่ที่ลมหายใจนั่นเอง KEY ชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญ ซึ่งมีวิถีชีวิต เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะสไบมอญ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่น และยังคงพัฒนาเป็นจุดขายถึงในปัจจุบัน