สร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 สมัยรัชกาลที่ 5 โดยการนำของบาทหลวงปีโอ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวัดของชาวคริสตัง (โรมันคาทอลิค) นักบุญอันนาเป็นมารดาของพระนางมารีย์ซึ่งเป็นพระมารดาของพระเยซูเจ้า จึงมีศักดิ์เป็นคุณยายของพระเยซูเจ้า ผู้ที่เลื่อมใสนับถือมักเรียกว่า “คุณยายอันนา” ภายในบริเวณวัดนี้ มีโบสถ์ซึ่งเป็นอาคารแปดเหลี่ยมที่สวยงามเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา โรงเรียนอันนาลัย และศาลานักบุญอันนาซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและเป็นที่ประดิษฐานของพระรูปนักบุญอันนาซึ่งสูงถึง 8.5 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชีย องค์พระรูปนักบุญอันนามีกลไกหมุนได้รอบตัว โดยต้องหยอดเหรียญ 10 บาทที่ตู้ควบคุมเพื่อให้หมุน วัดนี้อยู่ติดกับวัดช่องลม และเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงามในการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่มีความแตกต่างทางศาสนา
สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี โดยความร่วมมือร่วมใจและเงินบริจาคของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2539 อาคารประธานของอุทยานนี้สร้างคล้ายภูเขาและมีถ้ำอยู่ภายใน บริเวณด้านบนของอาคารไม่มีหลังคาแบบศาลเจ้าจีนทั่วไป แต่มีการนำประติมากรรมพระโพธิสัตว์กวนอิมปางเมตตาซึ่งหล่อด้วยโลหะแล้วทาสีสวยงามโดยมีความสูงถึง 9.98 เมตร ประทับยืนบนฐานดอกบัวและมีมังกรเขียวโอบล้อมรอบ ขนาบข้างด้วยเทพบริวาร มาประดับแทน คำว่า “โพธิสัตว์” มาจากคำสันสกฤตซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ” ในที่นี้หมายถึง “ผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า” ส่วนพระนาม “กวนซีอิม” หรือ “กวนอิม” หมายถึง ผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก ซึ่งเดิมเรียกพระนามว่า กวนซีอิม แต่ต่อมาตัดเหลือเพียงกวนอิม ด้วยความเชื่อว่าทรงมีพระเมตตา ฟังความทุกข์ร้อนใจของผู้คน และช่วยเหลือปัดเป่าให้พ้นภัย จึงได้รับความศรัทธาเลื่อมใสอย่างมากจากคนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดข้างเคียง พระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นเป็นองค์เดียวกันกับ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญตามคติมหายาน เมื่อครั้งพุทธศาสนาแรกเผยแพร่จากอินเดียสู่จีนนั้น รูปลักษณะของพระอวโลกิเตศวรเป็นเพศชายเช่นเดียวกับในอินเดีย แต่ต่อมามีการผสมผสานกับตำนานพื้นบ้านของจีนเรื่อง “เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” ซึ่งทรงเป็นพุทธมามกะที่รู้แจ้งในธรรมอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีความกตัญญูเป็นเลิศ จึงกลายเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมซึ่งเป็นเพศหญิง
ศาลเจ้าที่สวยงามและเก่าแก่ประมาณ 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลมีเทพเจ้ากวนอูเป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลางพร้อมและเทพบริวารอีก 2 องค์ ด้านขวามีปรมจารย์ซึ่งเป็นพระสงฆ์จีน 5 องค์ และด้านซ้ายมีเทพเจ้าอาม๊าหรือเทียนโฮ่ว รวมทั้งมีแม่พิมพ์ไม้แกะสลักตัวอักษรจีนที่มีการแกะสลักคำว่า “เล่งเกียฉู่ (龍仔厝)” ที่แปลว่า “บ้านลูกมังกร” ซึ่งเป็นชื่อภาษาจีนของท่าฉลอมไว้ด้วย เทพเจ้ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ กล้าหาญทรงคุณธรรม และเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือสูงสุด โดยเป็นบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงตามเรื่องราวในวรรณกรรมสามก๊ก ชาวจีนก่อนออกเดินทางไปค้าขายต่างประเทศมักนิยมบูชาเทพเจ้ากวนอู
ศาลเจ้าจีนไหหลำ เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลมีเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย โดยแปลเป็นไทยว่า “เจ้าแม่ท้ายน้ำ” ซึ่งเป็นที่นับถือของคนเดินเรือชาวไหหลำ และมักเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เจ้าแม่ทับทิม” เนื่องจากมีเครื่องประดับประจำองค์เป็นพลอยสีแดง เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าปุนเถ้ากง และด้านซ้ายมีเทพเจ้ากวนอูและบริวาร รวมทั้งมีกระถางธูปและเกี้ยวอัญเชิญที่เก่าแก่กว่า 100 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีงานแห่เจ้าแม่และพิธีลุยไฟ เจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยมีประวัติโดยย่อว่า จุ๊ยบ๋วยเนี้ยเป็นเทพหญิงที่สิงสถิตในขอนไม้ โดยมีชาวประมงแซ่พัวเดินเรือจับปลา วันหนึ่งขณะลากแหพบว่าแหมีน้ำหนักมาก คิดว่าคงได้ปลามากมาย แต่ปรากฏว่ามีขอนไม้ท่อนหนึ่งมาติดแทน เมื่อโยนทิ้งไปและหว่านแหอีกครั้ง ขอนไม้ท่อนนั้นก็ติดกลับมาเช่นเดิม จึงอธิษฐานให้ตนจับปลาได้จำนวนมาก หากสำเร็จตามคำขอ จะนำขอนไม้ไปแกะสลักเป็นรูปเพื่อบูชา เมื่อคำขอของเขาสัมฤทธิ์ผล เขาจึงนำขอนไม้ดังกล่าวกลับบ้าน แต่เมื่อถึงบ้านแล้วกลับทิ้งขอนไม้ให้ตากแดดตากฝน ต่อมามีการย้ายขอนไม้ไปไว้หน้าเล้าหมู หลังจากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์ประหลาด หมูเล้านั้นตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งหากใครลบหลู่ขอนไม้ล้วนมีอันเป็นไปทั้งสิ้น ชาวประมงแซ่พัวจึงตระหนักได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของขอนไม้ และทำการขอขมาแล้วนำมาแกะสลักตามที่เคยสัญญาไว้
ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วแห่งนี้อยู่ในบริเวณวัดช่องลม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2542 หันหน้าสู่ปากอ่าวไทย ภายในศาลเจ้ามีเจ้าแม่เมืองสมุทร หรือเจ้าแม่เทียนโฮ่ว เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ และด้านซ้ายมีเทพเจ้าแปะกง เจ้าแม่เทียนโฮ่วมีประวัติโดยย่อว่า ท่านเป็นผู้หญิงที่เฉียวฉลาดและมีพลังจิตสูง เกิดในมณฑลฮกเกี้ยน ครั้งหนึ่งพี่ชายของนางซึ่งเป็นชาวเรือได้ประสบคลื่นพายุใหญ่ในทะเล นางทราบด้วยพลังจิต จึงได้ใช้พลังจิตนำเรือพี่ชายพ้นจากพายุและกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย จึงเป็นที่เลื่องลือและนับถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเดินเรือและชาวประมง
เดิมชื่อ “วัดท้ายบ้าน” เพราะอยู่ช่วงท้ายบ้านของท่าฉลอม วัดนี้อยู่ตรงบริเวณปากอ่าวซึ่งมีลมแรงพัดเข้ามา ต่อมาจึงเรียกว่า “วัดช่องลม” ถือว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2519 รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทธิวาตวราราม” ซึ่งมีความหมายว่า “วัดลมล้วน ๆ” ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามหลวงพ่อหินแดงเป็นประธาน ซึ่งสร้างจากหินทรายแดงที่อาจเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนต้นโดยลงรักปิดทองใหม่ และมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก ถัดจากอุโบสถ มีวิหารพระเทพสาครมุนีหรือหลวงปู่แก้วซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดช่องลมที่มีคุณูปการอย่างมากกับชุมชนท่าฉลอม ในวิหารมีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่จำนวนมาก และถ่ายมูลรดผนังเป็นลวดลายสวยงาม เป็นที่ดึงดูดใจของผู้มาเยี่ยมชม ที่หน้าวัดมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 วัดนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากวัดไทยทั่วไป คือ มีศาลเจ้าถึง 2 แห่งอยู่ในบริเวณวัดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างดีของคนไทยและคนจีนในชุมชนท่าฉลอม ได้แก่ ศาลเจ้าแม่เมืองสมุทรซึ่งอยู่ด้านหน้าวัด และศาลเจ้าแม่กวนอิมซึ่งอยู่ด้านหลังวัด
สร้างขึ้นเมื่อปี 2519 ด้วยเงินบริจาคของชาวท่าฉลอมเพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศให้ตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทยและเสด็จมาเปิดถนนถวาย ทุกปีในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งเป็น “วันท่องถิ่นไทย” ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2553 จะมีการจัดงานพิธีถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แต่ละจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางการจัดงานที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 แห่งนี้ เพื่อร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นของไทย
ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ศาลเจ้านี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลเจ้ากลาง” เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหัวบ้านและท้ายบ้านของท่าฉลอม และยังมีอีกชื่อตามป้ายชื่อภาษาจีนที่ติดอยู่หน้าศาลว่า “ศาลเจ้าเก่าแห่งท่าจีน” ภายในศาลมีเทพเจ้าปุนเถ้ากงซึ่งทรงชุดทหาร เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลางพร้อมด้วยเทพบริวารอีก 3 องค์ ด้านขวามีเจว็ดไม้สลักเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องแบบไทยจำนวน 6 องค์ โดยบางองค์เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง และด้านซ้ายมีเจ้าแม่เทียนโฮ่วซึ่งเป็นเทพที่คนเดินเรือชาวจีนแต้จิ๋วนับถือในลักษณะเช่นเดียวกับเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยของชาวจีนไหหลำ เทพเจ้าปุนเถ้ากงเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนโพ้นทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ เคารพนับถือแต่ไม่มีในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งชุมชนที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชนนั้น ๆ ให้ร่มเย็น และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือชาวจีนในอดีตอีกด้วย ปุนเถ้ากง หรือ เปิ่นโถวกง (本頭公) มาจากคำว่า “เปิ่น” แปลว่า เดิม หรือดั้งเดิม “โถว” มาจาก “โถวมู่” แปลว่า หัวหน้า หรือผู้นำ และ “กง” แปลว่า ผู้อาวุโส หรือผู้เฒ่า เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า “หัวหน้าผู้อาวุโสที่มีมาแต่เดิม”
ไหว้เทพเจ้าในโรงเจแล้ว เดินไปทางด้านหลัง มีเก๋งจีนวางป้ายวิญญาณเก่าแก่ แท่นวางป้ายวิญญาณวาดลวดลายพู่กันจีน บนแท่นวางแผ่นป้ายวิญญาณบรรพชนชาวท่าฉลอมจำนวนมาก สลักเสลาสวยงาม เป็นธรรมเนียมเคารพแบบจีน แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ชาวจีนโพ้นทะเลนั่งเรือสำเภาห่างจากบ้านเกิด มาก่อร่างสร้างตัว ด้วยความมุ่งมั่น ส่งทอดต่อให้ลูกหลาน ศิลปะความงดงามของป้ายวิญญาณ นอกจากถ่ายทอดความกตัญญูรู้คุณ ยังบอกเล่า ฐานะความเจริญรุ่งเรืองของท่าฉลอมในยุคนั้นอีกด้วย
โรงเจใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร สร้างโดยจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน โรงเจนี้ประกอบด้วย อาคารประธาน อาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณ ศาลทีกง โรงเจและอาคารสำนักงาน และโรงงิ้ว ภายในอาคารประธานมีเทพเจ้าเต๋าบ้อและนพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าน่ำปั๊กกวนกุน (เทพเจ้าดาวเหนือและดาวใต้) และด้านซ้ายมีเทพเจ้าฮั้วถ้อเซียนซือ ซิ่งล่งเซียนตี่ และซิ่งกิมยิ้น อาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณอยู่บริเวณด้านหลัง ซึ่งมีแผ่นป้ายวิญญาณของบรรพชนชาวท่าฉลอมจำนวนมากเก็บไว้อยู่ ในเดือนตุลาคมของทุกปี มีงานประเพณีเทศกาลถือศีลกินเจ 10 วัน ซึ่งจะมีชาวสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ จำนวนมากมาไหว้ที่โรงเจแห่งนี้