ศาลเจ้าจีนไหหลำ เก่าแก่ประมาณ 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลเจ้ามีเทพเจ้าเฮียตี๋กง หรือเทพเจ้า 108 พี่น้องซึ่งเป็นเทพเจ้าสำคัญของชาวจีนไหหลำ เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าปุนเถ้ากง และด้านซ้ายเทพเจ้าไฉ่ซินเอี๊ยะ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ประดิษฐานเทพเจ้าเป็นองค์ประติมากรรม แต่ใช้ป้ายวิญญาณเป็นตัวแทนเทพเจ้าแต่ละองค์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักพบในศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ เทพเจ้าเฮียตี๋กงมีประวัติโดยย่อว่า ในอดีต มีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนไหลหลำ 108 คนได้ออกเรือจากเกาะไหหลำเพื่อนำสินค้าไปขายที่เวียดนาม แต่ระหว่างเดินทางในทะเลได้ถูกข้าราชการและทหารเวียดนามปล้นและถูกจับโยนลงทะเลฆ่าตายทั้งหมด แต่วิญญาณชาวจีนไหลหลำทั้ง 108 คนนั้นศักดิ์สิทธิ์มากได้ไปเข้าฝันพระราชาเวียดนาม จนในที่สุดทำให้ข้าราชการและทหารเวียดนามดังกล่าวถูกจับและถูกลงโทษ จึงทำให้ชาวจีนไหหลำนับถือตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จองค์พระปฐมฯ พระพุทธรูปปางทรมานพญาชมพูบดี องค์ใหญ่สูงสง่าทรงเครื่องงดงามดุจดั่งกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีประวัติโดยย่อว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงเนรมิตองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม เพื่อปรามความหลงใหลในทรัพย์สมบัติและความริษยาของพญาชมพูบดี เมื่อแสดงอิทธิฤทธิ์แข่งกับพระพุทธเจ้าเท่าไรก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนทำให้พญาชมพูบดีดวงตาเห็นธรรมและออกบวช สมเด็จองค์พระปฐมฯ ที่ท่าฉลอม เป็นหนึ่งใน 9 องค์ที่สร้างขึ้นทั่วประเทศในพื้นที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส นอกจากนี้ วัดนี้ยังมีความแตกต่างจากวัดไทยทั่วไป คือ มีศาลเจ้าไต้ฮงกงและสุสานจีนตั้งอยู่ในบริเวณวัดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างดีของคนไทยและคนจีนในชุมชนท่าฉลอม
เดิมชื่อว่า “วัดหัวบ้าน” ตั้งอยู่ต้นถนนถวาย ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด แต่มีบันทึกเกี่ยวกับวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 อุโบสถไม้เก่าแก่และสวยงามด้วยศิลปะจีนผสมไทยอย่างลงตัว หลังคาประดับด้วยทั้งมังกรและพญานาค มีพระพุทธรูป 18 องค์ซึ่งเรียกว่า 18 อรหันต์ เรียงรอบผนังด้านนอกอุโบสถ ที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีจารึกว่า “จีนใช้แม่ต่อม สร้างไว้ในสาสน” และอีกองค์หนึ่งจารึกเป็นภาษาจีนโบราณ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงปู่แสนสุข หลวงพ่อเชียงแสน และหลวงพ่อดำ พื้นอุโบสถปูด้วยกระเบื้องลายครามโบราณล้ำค่าจากจีนซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้สร้างอุโบสถรวมกันในสมัยนั้น
Q: รู้ไหมว่า สาวมหาชัย ที่ชายหนุ่มในเพลง “ท่าฉลอม” หลงรัก ชื่ออะไร? A: พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอม เพราะรัก “พยอม” ยามยาก STORY รถสามล้อถีบโบราณ ท่าเรือข้ามฟาก ท่าฉลอม-มหาชัย และถนนถวาย 3 สิ่งสามัญประจำถิ่นซึ่งเฉลยคำว่า “ท่าฉลอม” ด้วยอัตลักษณ์และเรื่องเล่า การเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของสยามประเทศ สรุปบันทึกเหตุการณ์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดํารัสในวันประชุมเสนาบดี ภายหลังเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) ว่า ‘โสโครกเหมือนกับตลาดท่าจีน (ท่าฉลอม)’ ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีหนังสือตราพระราชสีห์น้อยถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร และเป็นที่มาของการที่ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมใจกันสละเงินรวมจำนวน 5,472 บาท โดยนำมาทำเป็นถนนปูอิฐขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 428 เมตร และจ้างคนปัดกวาดเทขยะมูลฝอยทิ้งจนตลาดท่าจีนสะอาดสมความตั้งใจ หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนาม “ถนนถวาย” ดังความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ เสียสละของชาวท่าฉลอมซึ่งพัฒนาท้องถิ่นไทยตามแนวพระราชดำริของพระองค์ และมีพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2448 ให้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของสยามประเทศ จากนั้นในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดําเนินมาเพื่อเปิดถนนเส้นนี้ เป็นเหตุให้วันที่ “18 มีนาคม” ของทุกปี เป็นวัน “ท้องถิ่นไทย” ของประเทศไทย ท่าฉลอมเป็นที่รู้จักอย่างโด่งดัง และถูกจดจำได้อีกครั้ง จากการเป็นสถานที่ในบทเพลง “ท่าฉลอม” ของชรินทร์ […]
Q: ที่ใดคือ หลักฐานเชิงประจักษ์ของความยาวนานแห่งวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของบ้านท่าจีน? A: วัดใหญ่จอมปราสาท STORY จากมหาชัยสู่ท่าฉลอม เส้นทางที่วิ่งจากกรุงเทพฯ บนถนนพระราม 2 ผ่านความรุ่งเรืองของยุคสมัยใหม่ ก่อนเข้าสู่ย่านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงที่สงบงาม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง ซึ่งยืนยันว่าความสงบงามแห่งวิถีชีวิตสุดคลาสสิกในปัจจุบันของท้องถิ่นบ้านท่าจีน และท่าฉลอมนี้ ไม่ได้ถือกำเนิดในยุครัตนโกสินทร์ แต่มีมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี นับตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นปราการด่านหน้าบอกว่าเข้าสู่ “บ้านท่าจีนแล้ว” วัดใหญ่จอมปราสาท ตั้งอยู่ที่บ้านท่าจีน ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร เป็นแหล่งรวมศรัทธาของชาวท่าจีนและชาวสมุทรสาครมานับเนื่องยาวนานตามอายุการก่อสร้างของวัดแห่งนี้ ท่ามกลางศรัทธาแห่งศาสนสถานทีโชติช่วงต่อเนื่อง ความเก่าแก่ที่กลายรูปร่างเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะ ปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่งดงามทั้งด้วยตาสัมผัส และด้วยใจที่รู้สึก ทั้งพระวิหารเก่า พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ทรงมณฑป ศาสนสถานแห่งนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ทั้งทางศาสนา และศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชน แม้ว่าอาคารโบราณสถานบางหลังจะถูกทิ้งร้าง แต่ก็ล้วนเป็นความวิจิตรงามที่ผู้อยู่และผู้มาเยือนมาชื่นชมไม่ขาดสาย KEY วัดใหญ่จอมปราสาทเป็นวัดในตำบลท่าจีน ที่เป็นทั้งศาสนสถานซึ่งยังคงใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี