logo

Category : เทศกาลประจำปี

11 Aug 2019

ประเพณีไหว้เจ้า 9 ศาล เทศกาลกินเจ สมุทรสาคร

ตรงกับ วันที่ 1 เดือน 9 ถึงวันที่ 9 เดือน 9 ตามจันทรคติ ของปฏิทินจีน ตรงกับเดือน 11 เดือนตุลาคม ตามปฏิทินสากล เป็นงานบุญสำคัญและยิ่งใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร พุทธบริษัททั้งชาวจีน และชาวไทย จะละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการละบาป ละเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ บำรุงกายใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เสริมสร้างบุญกุศลให้กับตนเองและครอบครัว สมัยใหม่นี้ก็ถือเป็นการล้างพิษ ให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นอีกด้วย และการได้กราบไหว้เทพเจ้า 9 ศาล ก็เหมือนเป็นการนอบน้อมกายใจ เคารพเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีฤทธิ์เดช อำนาจบารมี ในช่วงร่างกายและจิตใจของเราสะอาด บริสุทธิ์ ถือว่าได้บุญเพิ่มมากขึ้น สมุทรสาคร เป็นแผ่นดิน ท่าจีน มีความงดงามของการผสมผสานชาติพันธุ์ไทยจีน มานับเวลาเนิ่นนาน จึงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า สมุทรสาคร เป็นหนึ่งแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีน มีศาลเจ้าที่ได้รับการกล่าวขาน เรื่องความเก่าแก่ ศักดิ์สิทธิ์ และความมีพระเมตตาขององค์เทพเจ้าอยู่มากมาย ทั้งในสมุทรสาคร ท่าจีนในอดีต และท่าฉลอม เมืองแห่งลูกมังกร การไหว้เจ้า 9 ศาล เริ่มต้นที่ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองประจำจังหวัดสมุทรสาคร,โรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร,ศาลเจ้าปุนเถ้ากง คลองมหาชัย,ศาลเจ้าแม่กวนอิมพันมือ คลองจาก,ศาลเจ้าพ่อกวนอู ท่าฉลอม,ศาลเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย ท่าฉลอม,โรงเจเชงเฮียงตั๊ว ท่าฉลอม,ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ท่าฉลอม,อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม ท่าฉลอม ครบจบด้วยความอิ่มเอิบใจ รับบุญไปเต็มๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล เครดิตภาพ ขอบคุณ MThai โรงเจมูลนิธิการกุศลสมุทรสาคร และ ศาลเจ้าปุนเถ้ากง คลองมหาชัย

11 Aug 2019

ประเพณีล้างเท้าพระ ตักบาตรดอกไม้

จัดขึ้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 11 ประเพณีของชาวรามัญ ที่สืบทอดกันมายาวนาน เรื่องเล่าตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จขึ้นไปเทศน์โปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเมื่อเสด็จกลับลงมาในวันออกพรรษา บรรดาเทพยดาบนชั้นฟ้า และมนุษย์ ต่างยินดีมาเข้าเฝ้า กราบรับเสด็จด้วยความปลื้มปิติ ต่างนำดอกไม้ ธูปเทียนไปถวายเป็นพุทธบูชา และล้างพระบาท เป็นการแสดงความนอบน้อม เคารพบูชาสูงสุดต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวมอญจึงจัดประเพณีล้างเท้าพระ ตักบาตรดอกไม้ ถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ประเพณีจะเริ่มในช่วงประมาณบ่ายสามโมง เมื่อเสียงระฆังของวัดลั่นบอกสัญญาณ ชาวรามัญ ในชุดงานบุญประจำชาติ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกสามส่วน นุ่งผ้าถุง ผมเกล้ามวย ห่มสไบมอญ ผู้ชายชาวมอญสวมเสื้อคอกลม แขนยาวแขนสั้นก็ได้ นุ่งผ้าลอยชายพาดผ้าขาวม้า หรือสไบ ก็จะมาพร้อมกันที่วัด ในมือถือโถน้ำบริสุทธิ์ และ ดอกไม้สดหลากสี นั่งเรียงรายไปตามทาง ปูผ้าขาว หรือผ้าเช็ดหน้ากับพื้น เมื่อพระสงฆ์เดินย่ำลงที่ผ้าตรงหน้า ก็กล่าวนิมนต์ ให้หยุดเพื่อล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ และถวายดอกไม้สด จากนั้นก็จะพากันขึ้นไปฟังเทศน์มหาชาติ บนศาลาวัด เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ การล้างเท้าพระมีความเชื่ออีกนัยยะหนึ่งว่า เป็นการชำระล้างความไม่ดี สิ่งเลวร้ายออกไปให้หมดสิ้น เพื่อชีวิตจะมีแต่ความสุข ความเจริญ

11 Aug 2019

งานประเพณี ตักบาตรน้ำผึ้ง

จัดขึ้นช่วงเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวรามัญ โดยเชื่อสืบต่อกันว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า น้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็น ทำให้สุขภาพแข็งแรง บรรยากาศในวันงานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เต็มไปด้วยความงดงามในเชิงวัฒนธรรม ชาวรามัญแต่งชุดประจำชาติ ผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกสามส่วน นุ่งผ้าถุง ผมเกล้ามวย ห่มสไบมอญ ผู้ชายชาวมอญสวมเสื้อคอกลม แขนยาวแขนสั้นก็ได้ นุ่งผ้าลอยชายพาดผ้าขาวม้า หรือสไบ ชาวบ้านจะจัดน้ำผึ้งบริสุทธิ์ใส่ถ้วยแก้ว แล้วเดินเรียงแถวตักน้ำผึ้งใส่บาตร ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

11 Aug 2019

ศึกเรือยาว ชิงจ้าวสายน้ำ สนามที่ 1 คลองตาขำ จังหวัดสมุทรสาคร

การแข่งเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ปีนี้ จัดในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2562 เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงใส่พระทัยในงานด้านการอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมของไทย จังหวัดสมุทรสาคร อบต.ชัยมงคล ประชาชนตำบลคลองตาขำ จึงฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือยาว วิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งน้ำ โดยเลือกคลองตาขำ ที่มีความสวยงาม และเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของชุมชนมาตั้งแต่เก่าก่อน การแข่งเรือยาว คลองตาขำ ตำบลชัยมงคล จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสนามที่ 1 จาก 11 สนาม ของศึกเรือยาว ชิงจ้าวสายน้ำ ซึ่งถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แบ่งการแข่งขันออกเป็น เรือ 5 ฝีพาย ประเภทประชาชน (เรือแข่งภายในจังหวัดสมุทรสาคร) และ เยาวชน, เรือ 30 ฝีพายประเภทเรือขุด,เรือ 30 ฝีพายแบบ Open,เรือ 55 ฝีพาย ประเภทเรือขุด และกีฬาพื้นบ้านการแข่งขันโล้กระทะ ประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี และประชาชนทั่วไป ประชาชนสามารถเข้าชมความตื่นเต้น สนุกสนาน เร้าใจของการแข่งขัน ได้ที่ คลองตาขำ หรือ ชมการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สอบถามข้อมูล วันเวลาการแข่งขันแต่ละปี ได้ที่ Facebook องค์การบริหารส่วนตำบลชัยมงคล และ Facebook ศึกเรือยาว ชิงจ้าวสายน้ำ ไทยพีบีเอส

23 Oct 2018

งานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร

Q: เพราะเหตุใดประชาชนที่มารอรับขบวนแห่ มักจะถือธูปกันมาด้วย? A: นำมาแลกกับธูปของเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อนำกลับไปบูชาที่บ้าน เสริมสิริมงคล   STORY   ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี มีช่วงเวลาหนึ่งที่ชาวสมุทรสาครร่วมมือร่วมใจในบทบาทที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดคือ การแห่เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาคร เจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรสาครนั้น คือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวสมุทรสาคร เป็นที่เคารพนับถือ ก่อให้เกิดประเพณีที่สืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน โดยทุกปีจะมีประชาชนผู้ที่ศรัทธามาร่วมขบวนแห่เป็นจำนวนมหาศาล และปิดถนนเส้นหลักหลายเส้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งมาจากทุกพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงจากจังหวัดอื่นด้วยเช่นกัน งานประเพณีแห่เจ้าพ่อหลักเมือง มีระยะเวลาการจัดงานที่ยาวต่อเนื่องถึง 5 วัน และการแห่นั้นจะอยู่ในวันที่ 2 ของงาน เริ่มเวลาประมาณ 9 โมงเช้า โดยเมื่อถึงเวลาจะอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองประทับบนเกี้ยว และอัญเชิญพ่อหลักเมืองในเกี้ยวลงเรือประมง เริ่มแห่จากทางน้ำเป็นลำดับแรก เพื่อเป็นสิริมงคลกับผู้ทำประมง อุตสาหกรรม และชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มวิถีชีวิตที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในสมุทรสาคร จากนั้นจึงเข้าสู่พิธีแห่ทางบก ซึ่งในริ้วขบวนจะประกอบด้วยรถน้ำมนต์ ขบวนธงทิว มังกรเงินมังกรทอง เกี้ยวเจ้าพ่อหลักเมือง เหล่าคณะลูกศิษย์ และผู้เข้าร่วมขบวน หน่วยงานต่างๆ จากทั่วทั้งจังหวัด ในพิธีแห่ทางบก ตลอดทางจะมีการพรมน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด โดยมีประชาชนมารอรับการพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล และหน้าบ้านแต่ละบ้านที่เป็นทางผ่านของขบวน จะมีเครื่องเซ่นไหว้วางอยู่หน้าบ้าน บางบ้านต้อนรับด้วยการจุดประทัด สิ่งสำคัญที่ทุกบ้านและประชาชนผู้มาร่วมงานจะทำคือ จุดธูปของตนเองเพื่อแลกธูปกับเจ้าพ่อหลักเมือง โดยเชื่อว่าหากนำไปบูชาจะเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว เมื่อเจ้าพ่อหลักเมืองจะเสด็จผ่าน จะมีเสียงหนึ่งบอกว่า “เจ้าพ่อเสด็จแล้ว คุกเข่าแล้วรวย” เป็นการปลุกใจและทำให้ผู้ที่มารออยู่นั้น ตั้งแถวกันอย่างเป็นระเบียบ วันสุดท้ายของการจัดงาน จะมีการแจก “ผัดหมี่มงคล” ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าการผัดหมี่วันนั้นทำให้อายุมั่นขวัญยืน ร่ำรวยเงินทอง เมื่อประชาชนที่มาร่วมงานได้กินก็จะช่วยเสริมสิริมงคล อายุยืนยาว ร่ำรวยเงินทองตลอดปี และนอกจากกิจกรรมในช่วงกลางวันแล้ว ในช่วงกลางคืนยังมีการแสดงมหรสพ เช่น การแสดงงิ้ว ลิเกวงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถรับชมได้ฟรีทุกวัน ตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน   KEY    […]